การคาดการณ์แนวโน้มพลังงานโลกในอนาคตในเอีกเกือบ 25 ปีข้างหน้า เป็นการศึกษาศักยภาพของมนุษย์ว่าจะมีการพัฒนาหรือมีข้อจำกัดอย่างไรในการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ยังไม่มีลูกแก้ววิเศษซึ่งสามารถทำนายการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ และการคาดการณ์เกี่ยวกับการดำรงชีวิตในแต่ละวันบนโลกนี้ขึ้นอยู่กับการยอมรับว่ามีรากฐานแห่งพลังที่ไม่หยุดนิ่งที่คอยขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ขอต้อนรับเข้าสู่รายงานภาพอนาคตพลังงานประจำปี พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นการมองภาพรวมการจัดหาและใช้พลังงานของโลกอย่างครอบคลุมโดยเอ็กซอนโมบิล รวมทั้งมุมมองของเราว่าภาพรวมนี้มีความหมายอย่างไรต่อสังคมและวิวัฒนาการของภูมิทัศน์ด้านพลังงานจนถึงปี พ.ศ. 2583

ในอีกยี่สิบกว่าปีข้างหน้า ชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากขึ้นในโลกที่กำลังพัฒนาจะต้องการเข้าถึงพลังงานที่เชื่อถือได้ในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น การตอบสนองต่ออุปสงค์พลังงานที่กำลังเติบโต ขณะเดียวกันก็ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มประสิทธิภาพต่าง ๆ ต้องใช้การลงทุนมหาศาลและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

ที.เจ. โวจนาร์ จูเนียร์ รองประธานฝ่ายวางแผนกลยุทธ์องค์กรของเอ็กซอนโมบิล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ กล่าวถึงเส้นทางสู่ปี พ.ศ. 2583 และความเจริญก้าวหน้าที่จะมีอิทธิพลต่อภูมิทัศน์พลังงานในอนาคต

Energy Factor: จากรายงานภาพอนาคตพลังงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั่วโลกน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี พ.ศ. 2583 โดยมีประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Non-OECD) เป็นผู้นำ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 165 เรื่องนี้มีความหมายอย่างไรต่ออุปสงค์และอุปทานด้านพลังงาน

ที.เจ. โวจนาร์ จูเนียร์ : พลังงานทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าตามมา ดังนั้น การที่ประเทศซึ่งไม่ใช่สมาชิก OECD พัฒนาและเลือกใช้พลังงานประเภทใด จึงเป็นตัวกำหนดหลักว่า ประเทศเหล่านั้นจะต้องการพลังงานประเภทไหนและมากเท่าไร รวมทั้งจะจัดหาพลังงานนั้นให้ได้อย่างไร อันที่จริง เราคาดว่าการเติบโตของอุปสงค์ด้านพลังงานของโลก โดยส่วนใหญ่จะมาจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD เป็นหลัก เพราะประมาณร้อยละ 85 ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้ในปี พ.ศ. 2583 และเป็นเหตุผลว่าทำไมผลกระทบจากประเทศเหล่านี้ที่มีต่อภูมิทัศน์พลังงานจึงมีนัยสำคัญกว่าเดิมมาก

เรารู้ว่าเมื่อเศรษฐกิจเติบโตและผู้คนร่ำรวยมากขึ้น คนจะเริ่มซื้อสินค้ามากขึ้น ซึ่งสินค้าหลายอย่างผลิตจากเคมีภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียม ความเจริญมั่งคั่งที่แผ่ขยายจะขับเคลื่อนการขนส่งภาคพาณิชย์ให้เติบโตด้วย เพราะมีวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่จำเป็นต้องขนส่งมากขึ้น และเพราะความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ประชากรจำนวนมากขึ้นสามารถเดินทางได้มากกว่าเดิม จึงต้องเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน

Photo of T.J. Wojnar Jr., VP for Corporate Strategic Planning at ExxonMobil

(ที.เจ. โวจนาร์ จูเนียร์ รองประธานฝ่ายวางแผนกลยุทธ์องค์กรของเอ็กซอนโมบิล)

EF: แต่นั่นฟังดูเหมือนจะทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

ที. เจ.: นี่เป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงด้านพลังงานข้อหนึ่งที่โลกกำลังเผชิญ เราจะจัดหาพลังงานที่เชื่อถือได้ในราคาที่เหมาะสม และขณะเดียวกันก็ลดการปล่อยก๊าซด้วยได้อย่างไร ในมุมมองของเรา คาดว่าระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถึงจุดสูงสุดในปี พ.ศ. 2583 แล้วจะลดลง ดังนั้น ใช่ครับ ขณะที่คุณมองเห็นอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับเชื้อเพลิงเหลวอย่างน้ำมัน เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จุดอื่น ซึ่งจะช่วยหักกลบลบกัน ตัวอย่างเช่น รถยนต์จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานขึ้นอีกมากอย่างต่อเนื่องเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยี และจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนจะเพิ่มขึ้นด้วยอย่างมีนัยสำคัญ อีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในเรื่องนี้คือกลุ่มประเทศสมาชิก OECD จะลดการใช้ถ่านหินลงประมาณร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2583 ที่สำคัญคือ ก๊าซธรรมชาติรวมทั้งพลังงานหมุนเวียนจะมีบทบาทมากขึ้นในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

EF: ก๊าซธรรมชาติจึงเหมือนกับเป็นตัวเปลี่ยนเกมในเรื่องนี้

ที. เจ.: ใช่ครับ โอกาสหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 footprint) บนโลกนี้ คือการใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างจีนกับอินเดีย ทุกวันนี้การผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าก๊าซธรรมชาติกับพลังงานหมุนเวียนสามารถเจาะตลาดนี้ได้ จะช่วยขจัดปัญหาการปล่อยก๊าซได้มาก เหมือนกับที่เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกา

EF: แล้วทำไมต้องเป็นก๊าซธรรมชาติ

ที. เจ.: เพราะมันสะอาดกว่า ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายกว่า และมีอยู่มากมาย ก๊าซธรรมชาติปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าถ่านหินถึงร้อยละ 60 เมื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และยังเป็นเชื้อเพลิงอเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานในหลายภาคส่วนที่แตกต่างกันได้อีกด้วย และจากปริมาณที่ค้นพบแล้วในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น ๆ  เรามีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้งานได้นานกว่า 200 ปี เมื่อคิดจากความต้องการของโลกในปัจจุบัน การค้นพบในปริมาณมากก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราคาดว่าก๊าซธรรมชาติจะมีส่วนช่วยตอบสนองความต้องการพลังงานของโลกที่เพิ่มขึ้นมากกว่าแหล่งพลังงานอื่นใด

EF: คุณยังพูดถึงพลังงานหมุนเวียนด้วย จะนำพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ร่วมกันอย่างไร

ที. เจ.: แหล่งพลังงานที่เติบโตเร็วที่สุดคือลมกับแสงอาทิตย์ ซึ่งจะแข่งขันกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้าจนถึงปี พ.ศ. 2583 ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มีประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และคุณภาพอากาศ แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการผลิตได้ไม่คงที่ ถึงกระนั้น พลังงานจากสองแหล่งนี้ก็สามารถแข่งขันได้มากขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายถูกลงมาแล้ว และมีนโยบายสาธารณะสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อคิดรวมกัน จะมีการเติบโตมากกว่าแหล่งพลังงานอื่น ๆ ของไฟฟ้า

EF: ตามแรงผลักดันดังกล่าวและเป้าหมายในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จะกลายเป็นแหล่งพลังงานที่ได้รับความนิยมหรือไม่

ที. เจ.: คุณคงเคยได้ยินว่า ใช่ รถยนต์จะเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้ากันหมด และกระแสไฟฟ้าทั้งหมดจะผลิตจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ แต่น่าสังเกตว่า แม้ว่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา พลังงานลมกับพลังงานแสงอาทิตย์กลับมีส่วนในการผลิตกระแสไฟฟ้าของโลกสูงกว่าร้อยละ 5 เพียงเล็กน้อย ภายในปี พ.ศ. 2583 เมื่อมีความเติบโตมากยิ่งขึ้น การใช้พลังงานลมกับพลังงานแสงอาทิตย์น่าจะสูงถึงเกือบร้อยละ 20 ของพลังงานที่โลกใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม พัฒนาการบางอย่างอาจช่วยส่งเสริมให้พลังงานทั้งสองประเภทแทรกซึมเข้าไปได้มากขึ้น เช่น ข้อแรก…การมีเครือข่ายกักเก็บพลังงานที่มีความคุ้มกับค่าใช้จ่าย และการมีแหล่งจัดหาพลังงานสำรองที่ตอบสนองการทำงานได้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติได้รับความนิยมมากกว่าเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่น ๆ

EF: รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฮบริดจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ของน้ำมันเชื้อเพลิงที่คาดการณ์ไว้หรือไม่

ที. เจ.: นี่เป็นคำถามหนึ่งที่ผมมักจะได้รับบ่อยที่สุด ยานยนต์ไฟฟ้าจะไม่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันหมดไปเลยหรือ ขอตอบคำถามอย่างนี้ครับ ถ้าคุณตั้งข้อสมมติฐานว่ารถยนต์ทุกคันในจำนวนหนึ่งพันแปดร้อยล้านคันบนโลกนี้ในปี พ.ศ. 2583 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ ความต้องการใช้น้ำมันจะยังคงใกล้เคียงกับปัจจุบัน เพราะการขนส่งภาคพาณิชย์และอุปสงค์ด้านเคมีภัณฑ์ยังคงมีอยู่มาก น้ำมันถูกใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับเคมีภัณฑ์ที่จะนำไปผลิตสินค้าต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของชนชั้นกลางที่กำลังเติบโต น้ำมันยังเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมขนส่งภาคพาณิชย์ในการขนย้ายผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทางเรือ เครื่องบิน หรือรถบรรทุก ยังไม่มีทางเลือกอื่นที่ใช้งานได้จริงเหมือนน้ำมันในภาคส่วนเหล่านี้ ถึงแม้เราจะคาดหวังว่าการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลดีมากจนชะลอการเติบโตของอุปสงค์ด้านพลังงานและการปล่อยก๊าซก็ตาม 

EF: แต่ถ้าน้ำมันยังเป็นสิ่งจำเป็น และคนมีจำนวนมากขึ้น ซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นและเดินทางบ่อยขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงได้อย่างไร

ที. เจ.: ใช่ครับ เมื่อประชากรของโลกมีมากถึง 9 พันล้านคน เราจะเห็นอุปสงค์ด้านพลังงานของโลกเติบโตอย่างมากไปจนถึงปี พ.ศ.2583 แต่เมื่อถึงเวลานั้น ทั้งความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสรุป โลกจะมีความหนาแน่นของคาร์บอนต่ำลงและมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งมีแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ในมุมมองของเรา การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีความคุ้มกับค่าใช้จ่ายมาใช้ให้มากขึ้น จะมีความสำคัญยิ่งต่อการแก้ปัญหาความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกยังมีพลังงานที่เชื่อถือได้ในราคาที่เหมาะสมไว้ใช้งาน

EF: ขอบคุณที่สละเวลา ที.เจ.

Tags

  • icon/text-size
You May Also Like

สำรวจ เพิ่มเติม

มาเบล หลุง: แรงกระเพื่อมที่สร้างความแตกต่าง แทนที่จะทำตามกระแสนิยม
มาตรการสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เทคโนโลยีที่กล้าท้าทายสำหรับวันนี้และวันหน้า