ประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิกกำลังมองหาแหล่งพลังงานที่หลากหลายและเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ ขณะที่ยังมั่นใจได้ว่าประชาชนในประเทศมีพลังงานใช้ในบ้าน มีเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ และความสะดวกสบายแบบชีวิตในยุคใหม่

วิธีหนึ่งที่จะทำเช่นนั้น คือ ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS)

ผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน มาจากกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานสูง ตัวอย่างเช่น เชื้อเพลิง พลาสติก เหล็ก ซีเมนต์ และไฟฟ้า สินค้าเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในสังคมยุคใหม่ แต่ก็ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ในกระบวนการผลิต

เทคโนโลยี CCS คือการดักจับโมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต ก่อนที่จะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แล้วคาร์บอนไดออกไซด์จึงถูกขนส่ง และนำไปใช้งานใหม่หรือกักเก็บไว้ใต้ดินอย่างปลอดภัยและถาวร

ในประเทศที่กำลังเติบโต การดักจับคาร์บอนจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างยิ่ง

คาดว่าความต้องการพลังงานจากประเทศเหล่านี้ จะเติบโตขึ้นร้อยละ 15 ภายในปีพ.ศ. 2593 เพราะการขยายตัวของชนชั้นกลาง และคาดว่าประเทศเหล่านี้จะใช้พลังงานมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วถึงสี่เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน

ด้วยการใช้นโยบายและระเบียบข้อบังคับที่เหมาะสม การดักจับและกักเก็บคาร์บอนจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้าในวงกว้าง โดยไม่ต้องชะลอการพัฒนา เมื่อประเทศต่างๆ ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนนับพันล้านคน

ผู้เชี่ยวชาญรอบโลกเห็นพ้องกันว่า การดักจับคาร์บอนจะเป็นเรื่องจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซ อันที่จริง สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศแจ้งว่า “การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์แทบจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มี CCS

การดักจับก๊าซจากแหล่งที่ปล่อยออกมา จะป้องกันไม่ให้ก๊าซเหล่านั้นเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

รัฐบาลต่างๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิกกำลังหันไปหา  CCS เพื่อให้ประเทศสามารถปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ เมื่อใช้ควบคู่กับการพัฒนาแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน และนโยบายที่มุ่งลดก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ CCS จะช่วยให้ภูมิภาคนี้อยู่บนเส้นทางที่จะมุ่งไปสู่อนาคตของการใช้พลังงานที่มีการปล่อยก๊าซต่ำ

 

Tags

  • icon/text-size
You May Also Like

สำรวจ เพิ่มเติม

ถามตอบกับรัส กรีน เรื่องการพัฒนาเชื้อเพลิงที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ สำหรับการขนส่ง
เตรียมเส้นทาง…สู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในอนาคต