สิ่งที่เกื้อหนุนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของเอเชียคือความต้องการที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในการหาพลังงานที่เชื่อถือได้มาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการขนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้มาจากถ่านหินและน้ำมัน แต่ก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ กำลังจะเข้ามาทำให้สัดส่วนการใช้พลังงานในภูมิภาคนี้เปลี่ยนไป
สำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา ( US. Energy Information Administration ) คาดการณ์ว่าในไม่ช้า จะมีการใช้ก๊าซธรรมชาติ ประมาณหนึ่งในสี่ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้กันอยู่เกือบทั่วทั้งเอเชียภายในปีพ.ศ.2583
แล้วเชื้อเพลิงอะไรบ้างที่น่าจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสัดส่วนการใช้พลังงานที่กำลังขยายตัวในภูมิภาคแห่งนี้?
- ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซจะยังคงมีบทบาทสำคัญในสัดส่วนการใช้พลังงานในอนาคต และจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมากในการช่วยให้ประเทศต่าง ๆ อย่างจีนและอินเดียจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศ หน่วยงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) คาดว่าเกือบครึ่งของการใช้พลังงานขั้นต้นทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจะมาจากก๊าซธรรมชาติ โดยจีนประเทศเดียวจะมีการใช้มากกว่าร้อยละ 40 ของความต้องการใช้ก๊าซที่เติบโตขึ้นทั่วโลกไปจนถึงปีพ.ศ. 2567
- พลังงานแสงอาทิตย์ การเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ปีที่ผ่านมา เวียดนามถึงกับแซงหน้าออสเตรเลียในเรื่องการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ อย่างไรก็ตาม พลังงานแสงอาทิตย์จะผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อดวงอาทิตย์ส่องแสงเท่านั้น การเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นกระแสไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน จะต้องอาศัยการวิจัยค้นคว้าอีกมากเกี่ยวกับการเก็บรักษาพลังงาน เพื่อให้มีกระแสไฟฟ้าไหลเวียนตอบสนองความต้องการได้ในยามค่ำคืน
- พลังงานลม ลมกลายเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้าทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยในปีที่ผ่านมาผลิตกระแสไฟฟ้าทั่วโลกถึง 597 กิกะวัตต์ ในปี พ.ศ.2561 จีนเป็นผู้ผลิตพลังงานลมรายใหญ่ที่สุดของโลก และเพียงแค่เอเชียแปซิฟิกภูมิภาคเดียวก็สามารถผลิตพลังงานลมได้เกือบครึ่งหนึ่งของพลังงานลมที่ผลิตได้ทั่วโลก IEA คาดการณ์ว่าพลังงานลมในเอเชียจะเติบโตเกือบร้อยละ 65 ระหว่างปี พ.ศ. 2561 จนถึงปี พ.ศ. 2566 ถึงแม้ว่าการลงทุนเรื่องพลังงานลมในจีนจะชะลอตัวลงแล้วในช่วงสองปีที่ผ่านมา
- เชื้อเพลิงชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพอาจกลายเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับการขนส่งในอนาคต เชื้อเพลิงชีวภาพจากสาหร่ายไม่เหมือนข้าวโพดหรือถั่วเหลือง ตรงที่ไม่ต้องใช้แหล่งอาหารของมนุษย์ หรือต้องใช้น้ำจืดจำนวนมากในการผลิต เชื้อเพลิงชีวภาพหลากหลายชนิดได้นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ทั่วโลกแล้ว และในปีพ.ศ.2561 สายการบินแควนตัสประสบความสำเร็จในการให้บริการเที่ยวบินแรกของโลกที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยบินระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐอเมริกา และมีแผนจะให้เครื่องบินทั้งหมดจากลอสแอนเจลิสใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ไม่ได้มาจากอาหารภายในปี พ.ศ.2563
-
- พลังงานน้ำ น้ำเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากที่สุดของโลก โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งคือเขื่อนซานเสีย (Three Gorges Dam) ในจีนที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 22,500 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของโลกจำนวนเกือบครึ่งอยู่ในประเทศนี้ จากข้อมูลของ IEA น้ำจะยังคงเป็นแหล่งพลังงานอันดับสองที่จีนใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าไปจนถึงปี พ.ศ.2573